วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ส่งงานชิ้นที่ 2

เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



 CD-R แตกต่างจาก CD-RW อย่างไร?

 article
CD-R (ซีดี-อาร์) และ CD-RW (ซีดี-อาร์ดับบลิว) เป็นสื่อที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเป็นสื่อที่รองรับการบันทึกข้อมูลได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสารที่บันทึกจากโปรแกรมชุดสำนักงาน เช่น Word, Excel, PowerPoint ไฟล์เสียงเพลง (Audio File) ไฟล์ภาพยนตร์ (Movie File) ไฟล์รูปภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย
อุปกรณ์ :: การบันทึกข้อมูลลงบนแผ่น CD-R หรือ CD-RW นี้ คุณจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "ไดร์ฟซีดี-อาร์ดับบลิว" (CD-RW Drive) หรือที่นิยมเรียกกันว่า ซีดี-ไรท์เตอร์ (CD-Writer) ซึ่งอุปกรณ์ประเภทนี้มีความสามารถทั้งการอ่านข้อมูลที่บรรจุอยู่ในแผ่นซีดี และสามารถบันทึกข้อมูลลงในแผ่น CD-R หรือแผ่น CD-RW --- อุปกรณ์ประเภทนี้มีให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เป็นแบบที่ติดตั้งอยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ แบบที่แยกออกมาเป็นอุปกรณ์ต่างหาก และเวลาที่ต้องการใช้งานก็จำเป็นต้องต่อสายเคเบิลที่เรียกว่า สาย USB เชื่อมต่อเครื่อง CD-Writer นี้เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์

ความเร็ว :: CD-Writer นี้มีการระบุค่าความเร็วอยู่ 3 ค่าด้วยกัน คือ
  1. ความเร็วในการเขียน (Write)
  2. ความเร็วในการเขียนซ้ำ (Rewrite)
  3. ความเร็วในการอ่าน (Read)
ตัวอย่างของการระบุค่า เช่น 52x32x52x โดยมักจะพิมพ์ติดไว้ที่ด้านหน้าของเครื่อง CD-Writer

ความแตกต่างระหว่าง CD-R และ CD-RW
CD-R (ซีดี-อาร์) เป็นแผ่นซีดีที่สามารถบันทึกได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูล ลบข้อมูลทิ้ง หรือบันทึกข้อมูลเดิมซ้ำได้ จึงเหมาะสำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ต้องการแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตาม แผ่น CD-R นี้ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมลงไปในแผ่นที่มีข้อมูลอยู่แล้วได้อีกหลายครั้ง จนกว่าพื้นที่ในแผ่นจะเต็ม โดยการบันทึกแต่ละครั้งนี้ จะถูกแยกออกเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่า Session ซึ่งในการใช้โปรแกรมเฉพาะสำหรับการบันทึกข้อมูลลงแผ่นซีดี เช่น โปรแกรม Nero ผู้ใช้งานจำเป็นต้องกำหนดการบันทึกให้เป็นแบบ Multi-session คือกำหนดให้แผ่นสามารถบันทึกเพิ่มเติมได้หลายๆ Session จนกว่าแผ่นจะเต็ม --- แต่ในกรณีที่ใช้ฟันก์ชั่นของ Windows XP ในการบันทึกข้อมูลลงแผ่นซีดี การบันทึกด้วยวิธีนี้จะกำหนดให้เป็น Multi-seesion ให้โดยอัตโนมัติ (ติดตามอ่านได้ในเกร็ดความรู้จากคุณครู)

CD-RW (ซีดี-อาร์ดับบลิว) เป็นแผ่นซีดีที่สามารถบันทึกซ้ำและลบข้อมูลทิ้งได้ โดยที่แผ่นซีดีนี้สามารถแบ่งการบันทึกเป็นหลายๆ Session ได้เช่นเดียวกับแผ่น CD-R แตกต่างกันตรงที่แผ่น CD-RW สามารถบันทึกซ้ำ และลบข้อมูลทิ้งได้ อย่างไรก็ตาม การนำแผ่นที่มีข้อมูลอยู่แล้วมาบันทึกซ้ำ หรือนำแผ่นที่มีข้อมูลเต็มแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง คุณจำเป็นต้องลบข้อมูลทั้งแผ่นทิ้งไปก่อน แล้วนำกลับมาใช้เหมือนแผ่นเปล่า --- และด้วยความสามารถที่เหนือว่าแผ่น CD-R จึงทำให้แผ่น CD-RW มีราคาที่สูงกว่าแผ่น CD-R








เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป


          เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้อ่านบทความ หรือได้รับการบอกต่อ ๆ กันมาว่า อย่าวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ตัวนะ อย่าคุยโทรศัพท์มือถือนานนะ เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือ จะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้สมองเสื่อม เป็นมะเร็งสมองได้

          โอ้โห...ฟังแล้วดูน่ากลัวขึ้นมาทันที เพราะเราเองก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันอยู่ทุกวัน ก็ย่อมอดกังวลไม่ได้ว่า  ความเชื่อทั้งหลายเกี่ยวกับการเตือนภัยโทรศัพท์มือถือนี้ จะจริงหรือไม่อย่างไรเพราะฉะนั้นวันนี้เราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยครับ

          ก่อนหน้านี้เราคงเคยได้ยินข้อมูลที่ว่า คลื่นไมโครเวฟที่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือนั้นจะส่งผลกระทบต่อสมอง และระบบประสาทได้จึงได้มีฟอร์เวิรด์เมล์บอกต่อ ๆ กัน ว่าไม่ควรเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ตัวโดยเฉพาะเวลานอนก็ควรปิดโทรศัพท์มือ ถือเสีย

          ด้วยเหตุนี้จึงได้มีนักวิจัยจากหลายประเทศทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลนี้ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีงานวิจัยจากประเทศอังกฤษออกมาเปิดเผยว่า คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือก็มีผลต่อสมอง ในแง่ที่ทำให้สมองมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำถามแบบ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ได้รวดเร็วขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของสมองในแง่อื่น ๆ และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นอันตรายต่อสมอง

          ทั้งนี้จริงอยู่ที่ว่า หากสิ่งมีชีวิตได้รับคลื่นรังสีในปริมาณมาก ๆ ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดอันตรายได้ แต่เนื่องจากความถี่ของคลื่นไมโครเวฟโทรศัพท์มือถือ กับเตาไมโครเวฟประกอบอาหารต่างกัน และกำลังส่งสัญญาณของโทรศัพท์มือถือก็ต่ำมาก ส่วน สนามแม่เหล็กที่ส่งออกมาก็มีขนาดเล็กมาก เกินกว่าจะมีผลกระทบต่อเซลล์ในร่างกาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวิตกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง หรือส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท

          ส่วนที่เคยมีงานวิจัยจากสวีเดน และราชสมาคมในลอนดอนระบุไว้ว่า เด็กหรือวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งบริเวณส่วนต่อของหูกับสมอง หรือเนื้องอกในสมองมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปถึง 5 เท่า เนื่องจากสมองและระบบประสาทยังไม่พัฒนาเต็มที่ และเด็กยังมีกะโหลกบางและเล็กกว่าผู้ใหญ่ ทำให้คลื่นพลังงานจากโทรศัพท์มือถือ สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่สมองเด็กได้มากกว่า ขณะที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลังอายุ 20 ปี มีโอกาสเป็นเนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง เพียง 50% เท่านั้น แค่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งบริเวณส่วนต่อของหูกับสมองแค่ 2 เท่า

          ข้อมูลนี้อาจจะดูน่ากลัวแต่ในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยเองก็ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในระยะยาว เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งที่บริเวณสมอง เพราะการเกิดมะเร็งสมองได้ต้องใช้เวลานานหลายปี และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบด้วยจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก

          สอดคล้องกับรายงานของสถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ ภายใต้การดูแลขององค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ที่ระบุว่า จากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 13,000 คน ในระยะเวลา 10 ปี พบว่าโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งสมองชนิดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง และเนื้องอกในระบบประสาทส่วนกลาง แม้จะคุยโทรศัพท์นานกว่า 30 นาที ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า โทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกในสมองได้โดยตรง พบแต่เพียงว่าผู้ที่คุยโทรศัพท์มือถือนานกว่า จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยครั้งแต่ระยะเวลาสั้น ๆ

          ทั้งนี้ใช่ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะไม่มีผลต่อสมองผู้ของใช้เลยเสียทีเดียว เพราะในวงการแพทย์ได้ยืนยันถึงผลกระทบของโทรศัพท์มือถือกับสมองไว้เรื่อง หนึ่งว่า หากคุยโทรศัพท์มือถือนาน ๆ จะทำให้ผู้ใช้เกิดอาการปวดศีรษะ ผิวหนังเหี่ยวย่น ความจำแย่ลงด้วย

          สรุปก็คือ ณ วันนี้ นักวิจัยยังไม่ฟันธงว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือจะส่งผลอันตรายต่อระบบสมอง หรือประสาท อย่างที่ใคร ๆ กลัวกัน มีแต่เพียงคำเตือน ที่ว่า การใช้โทรศัพท์มือถืออาจทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสมองมากกว่าผู้ ไม่ได้ใช้เท่านั้น และต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปอีกในอนาคต

          แต่ถ้าหากใครยังไม่แน่ใจ หรือเกรงว่าผลวิจัยในอนาคตจะออกมาตรงกันข้ามกับข้อมูล ณ วันนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เราก็ควรใช้โทรศัพท์มือถืออย่างระมัดระวังมากขึ้นโดย

          - เปลี่ยนไปใช้สมอลล์ทอล์ก หรือ บลูทูธ เพื่อหลีกเลี่ยงการถือโทรศัพท์แนบกับศีรษะ

          - ไม่ควรคุยโทรศัพท์นานเกินไป โดยเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 15 นาที

          - ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ หากอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณต่ำ เพราะจะทำให้โทรศัพท์ปล่อยคลื่นความถี่สูงกว่าปกติ

          - อย่าให้เด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด หากไม่จำเป็นจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น